เมนู

พระอรหันต์ทั้งหลายผู้เชี่ยวชาญแต่ก่อน สังคายนา
เรื่องใดไว้ในคันภีร์ขุททกนิกาย โดยชื่อว่าวิมานวัตถุ
เพราะฉะนั้น จักยึดนัยที่มาในอรรถกถารุ่นเก่านั้น
เมื่อจะประกาศนิทานทั้งหลายในเทศนานั้น ๆ โดย
พิเศษ จักแต่งกถาพรรณนาอรรถอันงาม ซึ่งหมดจด
ดี ไม่สับสน มีวินิจฉัยอรรถอย่างละเอียด ไม่
ผิดลัทธิสมัยของพระเถระทั้งหลายผู้อยู่ในมหาวิหาร
ตามกำลัง ขอสาธุชนทั้งหลาย จงตั้งใจฟังวิมาน-
วัตถุนั้นของข้าพเจ้า ซึ่งกำลังกล่าวอยู่ โดยเคารพ
เทอญ.

อธิบายคำว่า วิมานวัตถุ


ในวิมานวัตถุนั้น สถานที่เล่นและอยู่อาศัยของเทวดาทั้งหลาย มี
จำนวนนับอันประเสริฐ ชื่อว่า วิมาน. จริงอยู่ วิมานเหล่านั้น บังเกิด
ด้วยอานุภาพของกรรมส่วนสุจริตของเทวดาเหล่านั้น รุ่งเรืองด้วยรัตนะ
ต่าง ๆ มีสีและทรวดทรงอันวิจิตร เพราะประกอบด้วยขนาดพิเศษมี 1
โยชน์ และ 2 โยชน์เป็นต้น เรียกกันว่า วิมาน เพราะพรั่งพร้อมด้วย
ความงาม และเพราะต้องนับโดยวิธีพิเศษ. วัตถุที่ตั้งแห่งวิมานทั้งหลาย
เป็นเหตุแห่งเทศนานั้น เหตุนั้น เทศนานั้น จึงชื่อว่า วิมานวัตถุ ได้แก่
เทศนาที่ดำเนินไปโดยนัยว่า ปีฐนฺเต โสวณฺณมยํ ปีฐวิมานตั่งทองของ
ท่าน ดังนี้เป็นต้น. ก็คำนี้เป็นเพียงตัวอย่าง เพราะเทศนานี้ดำเนินไป
อาศัยสมบัติมีรูปโภคะและบริวารเป็นต้น และกรรมที่เป็นเหตุทำให้บังเกิด

สมบัตินั้น ของเทวดาเหล่านั้น อีกนัยหนึ่ง กล่าวโดยมุข คือ วิบาก
พึงทราบว่า ชื่อว่า วิมานวัตถุ เพราะเป็นเหตุแห่งการนับในระหว่าง
[ช่วง] กรรม.
ถามว่า วิมานวัตถุนี้ ใครกล่าว กล่าวที่ไหน กล่าวเมื่อไร และ
กล่าวเพราะเหตุไร. ตอบว่า วิมานวัตถุนี้ ดำเนินไป โดยกิจ 2 อย่าง
คือ ถามและตอบ. ในกิจ 2 อย่างนั้น คาถาคำตอบ เทวดาทั้งหลาย
นั้น ๆ กล่าว. ส่วนคาถาคำถาม บางคาถาพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส บาง
คาถา ท้าวสักกะเป็นต้นตรัส บางคาถา พระสาวกเถระทั้งหลายกล่าว.
แม้ในคาถาคำถามนั้น คาถาส่วนมาก ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ผู้
สร้างสมภารคือบุญและญาณ เพื่อเป็นพระอัครสาวกของพระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้า บำเพ็ญสาวกบารมีมาโดยลำดับถึง 1 อสงไขย กำไรแสนกัป
ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณหมดสิ้น ซึ่งมีคุณพิเศษมีอภิญญา 6 และ
ปฏิสัมภิทา 4 เป็นต้นเป็นบริวาร ดำรงอยู่ในตำแหน่งอัครสาวกรูปที่ 2
อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ในเหล่าภิกษุ
สาวกผู้มีฤทธิ์ กล่าวไว้แล้ว.
ก่อนอื่น พระเถระเมื่อจะกล่าว ก็เที่ยวเทวจาริกไปเพื่อเกื้อกูลโลก
ไถ่ถามเทวดาทั้งหลายในเทวโลก กลับมามนุษยโลกอีก ทำคำถามและ
คำตอบไว้รวมกัน เพื่อทำผลบุญ ให้ประจักษ์แก่มนุษย์ทั้งหลาย กราบทูล
เรื่องถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงกล่าวแก่ภิกษุทั้งหลาย. ท้าวสักกะ
ตรัสก็โดยถามปัญหา เทวดาทั้งหลายตอบท้าวสักกะนั้นก็ดี ตอบท่าน
พระมหาโมคคัลลานเถระก็ดี ก็โดยตอบปัญหาเหมือนกัน. โดยนัยดังกล่าว
มานี้ คาถาวิมานวัตถุ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระเถระทั้งหลาย และเทวดา

ทั้งหลายกล่าว ก็โดยถามปัญหา และเทวดาทั้งหลายกล่าวไว้ในที่นั้น ๆ ก็
โดยตอบปัญหานั้น ภายหลัง พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายผู้สังคายนา
ธรรมวินัย รวบรวมยกขึ้นสู่สังคีติว่าวิมานวัตถุอย่างเดียว ก็การตอบบท
ว่า ใครกล่าว เป็นต้น โดยสังเขปทั่ว ๆ ไปในวิมานวัตถุนี้ เท่านี้ก่อน.
ส่วนบทว่า ใครกล่าว เมื่อกล่าวโดยพิสดาร ก็พึงกล่าวอาคมนีย-
ปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่พึงดำเนินมาของพระเถระ ตั้งแต่มหาเถระทำปณิธาน
ความปรารถนาไว้แทบเบื้องบาทพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี.
ก็ปฏิปทานั้น ท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วในที่นั้น ๆ ในอรรถกถาทั้งหลาย
อันเป็นที่มา เพราะฉะนั้น พึงทราบตามนัยที่มาแล้วในที่นั้น. เมื่อกล่าว
โดยไม่ทั่วไป [โดยเฉพาะ] การตอบบทว่า กล่าวที่ไหน ก็จักมาถึง
ตอนพรรณนาความแห่งวิมานนั้น ๆ.
ส่วนอาจารย์พวกอื่นๆ กล่าวว่า วันหนึ่ง ท่านพระมหาโมคัลลานะ
ไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ เกิดใจปริวิตกอย่างนี้ว่า ปัจจุบันนี้ มนุษย์
ทั้งหลาย เมื่อความถึงพร้อมแห่งวัตถุ [ไทยธรรม] ความถึงพร้อมแห่ง
เขต [ทักขิไณยบุคคล] และความถึงพร้อมแห่งจิตเลื่อมใสของตน
[เจตนา] แม้ไม่มี ก็ยังพากันทำบุญนั้น บังเกิดในเทวโลกเสวยสมบัติ
อันโอฬาร ถ้ากระไร เราจาริกไปในเทวโลก ทำเทวดาเหล่านั้นเป็น
ประจักษ์พยานให้กล่าวบุญ ตามที่พวกเขาสร้างสมไว้ และผลบุญตามที่
ได้ประสบ แล้วกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเป็นดังนั้น
พระศาสดาของเรา เมื่อทรงแสดงผลกรรมให้ประจักษ์ชัดแก่มนุษย์ทั้งหลาย
เหมือนดังทรงทำพระจันทร์เพ็ญอุทัยขึ้น ณ พื้นนภากาศ ทรงชี้ความที่บุญ
ทั้งหลาย แม้ประมาณเล็กน้อย ก็ยังมีผลโอฬาร โดยศรัทธาความเชื่อต่อ

เนื่องกันได้ ทรงทำวิมานวัตถุนั้น ๆ ให้เป็นวัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่องแล้ว
จักทรงประกาศพระธรรมเทศนาได้ยิงใหญ่. พระธรรมเทศนานั้น ก็จะเป็น
ประโยชน์เกื้อกูลความสุขแก่ชนเป็นอันมาก แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ท่านลุกขึ้นจากอาสนะ นุ่งผ้า 2 ชั้นย้อมดีแล้วผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่ง
ห่มเฉวียงบ่า เปรียบดังฟ้าแลบ มีลำสายคล้ายหิงคุ์ตามธรรมชาติ [หยาด
มหาหิงคุ ] และเปรียบดังยอดเขาอัญชันคิรี เดินได้ ซึ่งฉาบด้วยแสงสนธยา
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง
กราบทูลความประสงค์ของตน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้ว ก็
ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณเวียนขวา
เข้าจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากจตุตถฌานนั้นแล้ว ก็
ถึงดาวดึงสภพในทันทีนั้น โดยกำลังฤทธิ์ จึงไถ่ถามถึงบุญกรรม ตามที่
เทวดาทั้งหลายนั้น ๆ สร้างสมไว้. เทวดาเหล่านั้น ก็บอกกล่าวแก่ท่าน.
ท่านกลับจากดาวดึงส์นั้นมายังมนุษยโลกแล้ว กราบทูลเรื่องนั้นทั้งหมด
ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยทำนองที่เป็นไปในดาวดึงสภพนั้น.
พระศาสดา ก็ได้ทรงรับทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงทำวิมานวัตถุนั้นให้เป็น
วัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่องแล้วทรงแสดงธรรมโดยพิสดาร โปรดบริษัทที่มา
ประชุมกัน.
ก็วิมานวัตถุนี้นั้น นับเข้าในสุตตันตปิฎก ในปิฎกทั้ง 3 คือ
วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก. นับเข้าในขุททกนิกาย ใน
นิกายทั้ง 5 คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย
ขุททกนิกาย. สงเคราะห์เข้าในคาถา ในสัตถุศาสน์มีองค์ 9 คือ สุตตะ
เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทานะ อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ

เวทัลละ. สงเคราะห์เข้าในธรรมขันธ์เล็กน้อย ในพระธรรมขันธ์ 84,000
ซึ่งท่านพระอานนท์ คลังพระธรรมปฏิญญาไว้ดังนี้ ว่า
ทฺวาสีติ พุทฺธโต คณฺหึ เทฺว สหสฺสานิ ภิกฺขุโต
จตุราสีติ สหสฺสานิ เย เม ธมฺมา ปวตฺติโน

ธรรมเหล่าใดอันข้าพเจ้าให้เป็นไป ข้าพเจ้า
เรียนธรรมเหล่านั้น จากพระพุทธองค์ 82,000
จากภิกษุ [พระสารีบุตรเถระ] อีก 2,000 รวม
เป็น 84,000 พระธรรมขันธ์.

กล่าวโดยวรรค มี 7 วรรค คือ ปีฐวรรค จิตตลตาวรรค
ปาริฉัตตกวรรค มัญชิฏฐกวรรค มหารถวรรค ปายาสิวรรค สุนิก-
ขิตตวรรค. กล่าวโดยเรื่อง วรรคที่ 1 มี 17 เรื่อง วรรคที่ 2 มี 11
เรื่อง วรรคที่ 3 มี 10 เรื่อง วรรคที่ 4 มี 12 เรื่อง วรรคที่ 5
มี 14 เรื่อง วรรคที่ 6 มี 10 เรื่อง วรรคที่ 7 มี 10 เรื่อง รวม
85 เรื่อง ไม่นับอันตรวิมาน แต่นับด้วย ก็มี 123 เรื่อง กล่าวโดย
คาถา มี 1,500 คาถา. บรรดาวรรคของวิมานวัตถุนั้น ปีฐวรรคเป็น
วรรคต้น . บรรดาเรื่อง เรื่องปีฐวิมาน วิมานตั่งทองเป็นเรื่องต้น. แม้
วิมานวัตถุนั้นมีคาถาว่า ปีฐนฺเต โสวณฺณมยํ เป็นคาถาต้น.

1. อิตถิวิมานวัตถุ


ปีฐวรรควรรณนาที่ 1


1. อรรถกถาปฐมปีฐวิมาน


แม้ปีฐวิมานเรื่องที่ 1 ในปีฐวรรคที่ 1 นั้น มีวัตถุปัตติเหตุ
เกิดเรื่อง ดังต่อไปนี้ :-
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกะ กรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงถวายอสทิสทาน
7 วัน แด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ท่านอนาถบิณฑิกะ
มหาเศรษฐี ก็ถวาย 3 วัน พอสมควรแก่อสทิสทานนั้น นางวิสาขา
มหาอุบาสิกา ก็ถวายมหาทานเหมือนอย่างนั้น. ประวัติความเป็นไปแห่ง
อสทิสทาน ได้ปรากฏทั่วชมพูทวีป. ครั้งนั้น มหาชนยกเรื่องขึ้นพูดกัน
ในที่นั้น ๆ ว่า ทานจักมีผลมาก ด้วยการบริจาคสมบัติอันโอฬารอย่างนี้
หรือ ๆ จักมีผลมาก แม้ด้วยการบริจาคพอสมควรแก่ทรัพย์สมบัติของตน.
ภิกษุทั้งหลายฟังคำนั้นแล้ว ก็กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มี-
พระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานมิใช่จักมีผลมาก ด้วยการ
ถึงพร้อมแห่งไทยธรรมอย่างเดียว ที่แท้ ทานจักมีผลมาก ก็ด้วยความ
ถึงพร้อมแห่งจิตที่เลื่อมใส และด้วยความถึงพร้อมแห่งเขต [ทักขิไณย-
บุคคล ] เพราะฉะนั้น ทานวัตถุเพียงสักข้าวกำมือหนึ่งก็ดี เพียงผ้าเก่า
ผืนหนึ่งก็ดี เพียงเครื่องลาดทำด้วยหญ้าก็ดี เพียงเครื่องลาดทำด้วยใบไม้ก็ดี
เพียงสมอดองน้ำมูตรเน่าก็ดี บุคคลมีจิตเลื่อมใสแล้ว ตั้งไว้ในทักขิไณย-
บุคคล ทานแม้นั้น ก็จักมีผลมาก รุ่งเรืองมาก แผ่ไพศาลมาก ดังนี้.